Last updated: 16 ธ.ค. 2559 | 3450 จำนวนผู้เข้าชม |
เมื่ออายุเพิ่มขึ้น ก้าวสู่วัยสูงอายุ นอกจากปัญหาสุขภาพ "กลุ่มโรคเรื้อรัง" เผชิญกับภาวะความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ และหลอดเลือดแล้ว โรคที่เกี่ยวเนื่อง กับโครงสร้างกระดูกและกล้ามเนื้อ "โรคข้อเข่าเสื่อม" นับเป็นอีกปัญหาสุขภาพใกล้ตัวที่สร้างความทุกข์ทรมาน ...
ปัจจุบันการดูแลสุขภาพด้วยการแพทย์แผนไทย สมุนไพร นับเป็นอีกทางเลือกที่ได้รับการตอบรับ สำหรับโรคปวดเข่า "ข้อเข่าเสื่อม" พท.ป.อังสนาภรณ์ พานิชอนุเคราะห์กุล แพทย์แผนไทยปฏิบัติการ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน กระทรวงสาธารณะสุขให้ความรู้ แนะนำการดูแลสุขภาพก่อนโรคลุกลามว่า ข้อเข่าเสื่อมพบได้กับทุกเพศวัย แต่โดยส่วนมากมักพบในผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป แต่อย่างไรก็ตามในระหว่างนี้ก็อาจมีภาวะป่วยเรื้อรังที่เพิ่มขึ้น และก้าวสู่ภาวะข้อเข่าเสื่อมอย่างแท้จริง !
"ข้อเข่าเสื่อมทางการแพทย์แผนปัจจุบันเป็นเรื่องของข้อต่อ กระดูกอ่อน ตรงบริเวณข้อเข่าเสื่อมสภาพบาง ลง ทำให้บริเวณกระดูกเสียดสีกันมากขึ้น ทำให้เกิดอาการบวมแดง น้ำในข้อเข่ามีมากขึ้น เกิดเป็นอาการปวดขัด เจ็บ ทำให้การใช้ชีวิตประจำวันลำบากเพิ่มขึ้น ไม่สามารถจะ นั่งยอง ๆ หรือนั่งพับเพียบได้
แต่ทางแพทย์แผนไทย เป็นโรคที่เกี่ยวเนื่องกับ 'ลม" เป็นลมชนิดหนึ่งที่ทำให้เลือดตกตะกอนที่บริเวณข้อ ซึ่งจะพบที่ข้อเข่าและข้อเท้า โดยเมื่อเทียบกับการแพทย์ปัจจุบันพบบริเวณที่ข้อเข่า แบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ ลมจับโปงน้ำ และลมจับโปงแห้ง"
"ลมจับโปงน้ำ" หรือ "ลมจับโปงแห้ง" โรคดังกล่าวมี ลักษณะของข้อเข่าที่มีอาการปวด บวมแดงร้อนชัดเจน คนไข้อาจมีอาการสะบัดร้อน สะบัดหนาว มีอาการของไข้ ส่วนอีกชนิด "โรคลมจับโปงแห้ง" อาการจะคล้ายคลึงกัน ปวด บวมแดง แต่จะเห็นเพียงเล็กน้อย ไม่มาก แต่สิ่งที่จะเห็นชัดเจนคือ ข้อเข่าจะมีเสียงกอบแกบ มีอาการติดขัดของข้อที่ชัดเจนขึ้น และโดยทั่วไปสาเหตุของโรคทางแพทย์แผนไทยมองว่า การเกิดโรคต่าง ๆ เกิดจากธาตุแปรเปลี่ยนไป ประกอบกับ มูลเหตุการเกิดโรค เกิดจากอาหาร อิริยาบทและอากาศ อย่างเช่น อาหาร รับประทานอาหารที่เป็นของแสลงในปริมาณมาก ๆ ไม่ควบคุมน้ำหนักตัว โดยหากน้ำหนักมากขึ้นจะสร้างปัญหาที่ข้อเข่าได้
ขณะที่การยืนนาน ๆ เดินมาก ๆ ก็ทำให้เกิดปัญหากับข้อเข่าได้เช่นกัน รวมถึงอากาศที่มีความร้อน ความเย็น อากาศที่แปรเปลี่ยนไปก็ส่งผลกระทบได้...
การรักษาแพทย์จะทำการตรวจอาการและซักประวัติ พร้อมกับสังเกตอาการของผู้ป่วย ทั้งนี้ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในปัจจุบันพบผู้สูงอายุป่วยด้วยโรคข้อเข้าเสื่อมจำนวนมาก และนอกจากการรักษาด้วยยาทางเวชกรรมแผนไทย ยังใช้การนวดเป็นการรักษาแบบองค์รวม
ยาสมุนไพรที่ใช้ อาทิ ขี้ผึ้ง ยาหม่อง ฯลฯ สรรพคุณช่วยลดการตึงของกล้ามเนื้อ บรรเทาอาการปวด ขณะที่ยาทานมีหลายตัวยาสมุนไพร ช่วยคลายกล้ามเนื้อ ลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ใช้วิธีการพอกยาสมุนไพรร่วมด้วย ฯลฯ จากการศึกษา การรักษาจับโปงน้ำด้วยการแพทย์แผนไทย สมุนไพร พบการเปลี่ยนแปลงภายใน 2 สัปดาห์ โดยมีรายงานวิจัยรองรับ ส่วนลักษณะของจับโปงแห้ง อาจใช้ระยะเวลาที่นานเพิ่มขึ้นประมาณ 1-2 เดือนขึ้นไปจึงจะเห็นผลการรักษา
"การรักษาด้วยการแพทย์แผนไทยสามารถช่วย ประคับประคองก่อนโรคลุกลามและทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะ "กลุ่มเสี่ยง" จากที่อาการเข่าบวม หากละเลยไม่รับการรักษาอาจทำให้เข่าผิดรูป เข่าโตขึ้น ไม่สามารถเดินไปไกล ๆ ได้ หรือนั่งพับเพียบได้ หรือไม่สามารถปฏิบัติกิจวัติประจำวัน เพราะมีอาการปวดเข่าเข้ามาบั่นทอนการป้องกันดูแลสุขภาพนับแต่เบื้องต้น ก่อนเข้าสู่กลุ่มเสี่ยงจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเป็นโรค การเข้ารับการรักษาก็จะช่วยให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้น มีความสุขและอยู่กับโรคได้โดยไม่วิตกกังวล"
คุณหมอกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า อาหารและการออกกำลังกายก็เป็นอีกสิ่งสำคัญ โดยลดเลี่ยงอาหารแสลง รับประทาน ตามธาตุเจ้าเรือน อาหารที่มีรสมัน อย่างเช่น ธัญพืชต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ถั่วงา น้ำเต้าหู้ ผักโสน ถั่วเขียวต้มน้ำตาล ฯลฯ ซึ่งช่วยบำรุงกระดูกและเส้นเอ็น รวมถึงแนะนำท่าออกกำลังกายฤษีดัดตน โดยทำได้ด้วยตนเอง เช่น ท่าดำรงกายอายุยืน ด้วยการยืนขาแยก มือประสานคล้ายจับกระบอง ค่อย ๆ ย่อตัวลง หรือในท่านั่ง โดยนั่งเหยียดขา ยื่นออก ค่อย ๆ ใช้มือกดนวดไล่ลงจากเหนือเข่าถึงปลายเท้า และจากปลายเท้ากดไล่ขึ้นมา สำหรับท่านั่งทำติดต่อกันประมาณ 5-10 ครั้งติดต่อกัน จะช่วยเปิดทางเลือด ทางลม คลายความเมื่อยล้าและยังช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับข้อเข่า และชะลอการเสื่อมได้อีกด้วย
10 ก.พ. 2564
11 พ.ย. 2563
7 ต.ค. 2563