'งูสวัด' ภัยร้ายผู้สูงอายุ

Last updated: 15 ก.พ. 2560  |  3841 จำนวนผู้เข้าชม  | 

'งูสวัด' ภัยร้ายผู้สูงอายุ

สำหรับผู้สูงอายุการดูแลสุขภาพให้ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากอายุที่เพิ่มมากขึ้นและภูมิคุ้มกันทางร่างกายที่อ่อนแอลงจึงทำให้มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย

โรคที่เกิดกับ ผู้สูงวัยตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไปนั้นพบได้หลากหลาย และเสี่ยงต่อการเกิดอาการแทรกซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคงูสวัดที่แฝงด้วยภัยร้ายที่ทำให้ผู้สูงอายุต้องเผชิญกับความเจ็บปวดทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส และอาการแทรกซ้อนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

พญ.อรพิชญา ไกรฤทธิ์ หน่วยเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า โรคงูสวัดเกิดจากเชื้อไวรัสอีสุกอีใสที่หลบซ่อนอยู่ในปมประสาทใต้ผิวหนังหลังจากมีการติดเชื้อชนิดนี้ครั้งแรก โดยเชื้อไวรัสจะแฝงตัวอยู่เป็นเวลานานหลายสิบปี จนเมื่อใดที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำ โดยเฉพาะจากการที่อายุมากขึ้น เชื้อที่แฝงตัวอยู่จะกระจายตัวตามปมประสาททำให้เส้นประสาทถูกทำลาย โดยจะแสดงอาการออกมาเป็นผื่นแดงและตุ่มน้ำใสๆ เรียงตัวเป็นกลุ่มตามแนวเส้นประสาท

"ผู้ป่วยจะต้องทนทุกข์ทรมานกับอาการที่ตามมา นั่นคืออาการปวดแสบปวดร้อน ตรงบริเวณผิวหนัง แม้บางครั้งถูกสัมผัสเพียงเบาๆ ซึ่งอาการปวดดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันโดยตรง ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการนอนได้"

จากข้อมูลในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า 1 ใน 3 ของประชากรที่มีอายุถึง 80 ปีเคยเป็นโรคงูสวัดมาแล้ว และความชุกของโรคงูสวัดจะพบมากขึ้นอย่างชัดเจนในประชากรที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป

พญ.อรพิชญา กล่าวต่อว่า ผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคงูสวัดนั้นมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนสูง โดยยิ่งมีอายุมากจะยิ่งเป็นรุนแรงและนานขึ้น เช่น อาการปวดตามแนวเส้นประสาทเรื้อรังแม้ผื่นได้รับการรักษาจนหายแล้ว นอกจากนี้ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ในผู้สูงวัยอาจเกิดขึ้นบริเวณดวงตา ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการแทรกซ้อนรุนแรงจนทำให้ตาบอด หรือหากงูสวัดขึ้นบริเวณหูด้านนอกหรือแก้วหู อาจทำให้ใบหน้าซีกนั้นๆ เกิดอัมพาต ปากเบี้ยว หรือไม่สามารถหลับตาข้างนั้นให้สนิทได้ ยิ่งไปกว่านั้น หากติดเชื้องูสวัดชนิดแพร่กระจายออกนอกแนวเส้นประสาท เชื้อไวรัสอาจกระจายเข้าสู่สมองและอวัยวะภายในอื่นๆ เช่น ตับ ปอด หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ จนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ความรุนแรงและการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสงูสวัดภายในร่างกายนั้นยิ่งทวีคูณตามอายุ ดังนั้นแนวทางการป้องกันโรคงูสวัดจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เริ่มจากการเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด ซึ่งจากการศึกษา พบว่าสามารถลดความเสี่ยงของโรคได้ร้อยละ 70 ในผู้มีอายุระหว่าง 50-59 ปี และร้อยละ 50 ในผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป อีกทั้งช่วยลดอุบัติการณ์ของอาการปวดตามแนวเส้นประสาทเรื้อรังได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีผู้สูงวัยในประเทศไทยเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดเพียงไม่ถึงร้อยละ 10

ทั้งนี้ ผู้สูงอายุสามารถลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสได้ด้วยการรักษาสุขอนามัยขั้นพื้นฐาน เช่น การล้างมือให้สะอาด และรักษาความสะอาดของใช้ส่วนตัวอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงพื้นที่ชุมชนแออัด อยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี และรักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ

ด้าน คุณกุลนิติ ทองใหญ่ ณ อยุธยา ผู้มีประสบการณ์จากโรคงูสวัด เผยว่า ก่อนจะทราบว่าตัวเองเป็นโรคงูสวัดก็มีเพียงอาการวิงเวียนและปวดเมื่อยตามตัว แต่ความเจ็บปวดมันเจ็บแปลบไปจนถึงหัวใจและสังเกตเห็นผื่นแดงขึ้นตามลำคอ แขนข้างซ้ายและที่หลัง จึงรีบไปพบแพทย์ ช่วงที่เป็นงูสวัดรู้สึกเจ็บปวดมากจนไม่อยากขยับร่างกาย เพราะต้องทนกับอาการปวดแสบปวดร้อนคล้ายถูกไฟไหม้อยู่ตลอดเวลาโดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืน จึงนอนไม่ค่อยหลับเป็นเวลาหลายอาทิตย์ ขอแนะนำให้ผู้สูงอายุทุกท่านเข้ารับการฉัดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเผชิญกับความเจ็บปวดอันแสนทรมาน

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้